โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์ ศรีสะเกษ
ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์ เป็นโรงเรียนที่อยู่ในโครงการจัดตั้งโรงเรียนมัธยมศึกษาเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติและน้อมเกล้าถวายเป็นราชสักการะแด่สมเด็จพระศรีนคริทราบรมราชชนนี เนื่องด้วยกระทรวงศึกษาธิการสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีที่ทรงมีต่อการศึกษาของชาติ จึงได้มีการจัดตั้งตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พุทธศักราช 2539 ชื่อว่า “โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี” ต่อมาได้รับพระมหากรุณาธิคุณอันสูงสุดจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พระราชทานชื่อใหม่เป็น “โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์” และตามด้วยชื่อจังหวัดที่โรงเรียนตั้งอยู่ โดยมีโรงเรียนเฉลิมสมเด็จพระศรีนครินทร์ ทั้งสิ้น 12 โรงเรียนทั่วประเทศ ได้แก่
- โรงเรียนโรงเรียนเฉลิมสมเด็จพระศรีนครินทร์ พะเยา
- โรงเรียนโรงเรียนเฉลิมสมเด็จพระศรีนครินทร์ กำแพงเพชร
- โรงเรียนโรงเรียนเฉลิมสมเด็จพระศรีนครินทร์ กาญจนบุรี
- โรงเรียนโรงเรียนเฉลิมสมเด็จพระศรีนครินทร์ ลพบุรี
- โรงเรียนโรงเรียนเฉลิมสมเด็จพระศรีนครินทร์ ร้อยเอ็ด
- โรงเรียนโรงเรียนเฉลิมสมเด็จพระศรีนครินทร์ หนองบัวลำภู
- โรงเรียนโรงเรียนเฉลิมสมเด็จพระศรีนครินทร์ ระยอง
- โรงเรียนโรงเรียนเฉลิมสมเด็จพระศรีนครินทร์ สมุทรสาคร
- โรงเรียนโรงเรียนเฉลิมสมเด็จพระศรีนครินทร์ ภูเก็ต
- โรงเรียนโรงเรียนเฉลิมสมเด็จพระศรีนครินทร์ ยะลา
- โรงเรียนโรงเรียนเฉลิมสมเด็จพระศรีนครินทร์ นครศรีธรรมราช
- โรงเรียนโรงเรียนเฉลิมสมเด็จพระศรีนครินทร์ ศรีสะเกษ
ความเป็นมา
พุทธศักราช ๒๕๓๙ นายพิชัย มุขสมบัติ ผู้อำนวยการสามัญศึกษาจังหวัดศรีสะเกษในขณะนั้น ได้จัดตั้งและหาสถานที่ก่อสร้างโรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์ ศรีสะเกษ โดยมอบหมายให้ นายสุธี ชินชัย ผู้ช่วยผู้อำนวยการสามัญศึกษาจังหวัดศรีสะเกษขณะนั้น เป็นผู้ติดต่อประสานงานกับคณะกรรมการสภาตำบลโพธิ์ นำโดย นายสมบูรณ์ วรรณทวี กำนันตำบลโพธิ์ , นายอนันต์ เหล่าแค ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๖ , ชาวบ้านบ้านโนนกอง , ชาวบ้านบ้านโนนจานและทุกหมู่บ้านในตำบลโพธิ์ ตลอดจน นายสุรพล ชาลีกุล ศึกษาธิการอำเภอเมืองศรีสะเกษ , นายจรัญ วิมาลา นายอำเภอเมืองศรีสะเกษ นายชนก ศรีวงษ์รัตน์ ป่าไม้อำเภอเมืองศรีสะเกษและนายจิโรจน์ โชติพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ ในขณะนั้น จนได้รับอนุมัติและประกาศจัดตั้ง เมื่อวันที่ ๓๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๙ โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์ ศรีสะเกษ เป็นโรงเรียนมัธยมศึกษา ตั้งอยู่ในเขตการศึกษา ๑๑ เริ่มรับนักเรียนในปีการศึกษา ๒๕๔๒ เป็นปีการศึกษาแรก โดยเริ่มรับนักเรียน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ ทั้งประเภทประจำและไป- กลับ ภายใต้การบริหารงานโดยนายสุธี ชินชัย ผู้อำนวยการโรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์ ศรีสะเกษ จนถึงวันที่ ๒๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ ปัจจุบันบริหารงานโดย นายสมศักดิ์ นันทวิสิทธิ์ เมื่อวันที่ ๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๕ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานพระมหากรุณาธิคุณ ทรงรับโรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์ทั้ง ๑๒ โรงเรียน อยู่ในพระราชูปถัมภ์ และในวันที่ ๒๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ณ โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์ ศรีสะเกษ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ (รัชกาลที่ ๙) มีพระบรมราชานุญาต ให้กลุ่มโรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์ เชิญอักษรพระปรมาภิไธยย่อ ส.ว. อยู่เหนือตราเสมาธรรมจักร รองรับด้วยริ้วกนกสีทอง และมีผืนธงตัดขอบสีเหลือง มีชื่อเต็มของโรงเรียนเป็นตัวอักษรสีแดงใต้ตราเสมาธรรมจักร
อักษรย่อ”สว.ศก.”
“สว.” ย่อมาจากพระนามของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี “สังวาลย์”
“ศก.” ชื่อจังหวัดที่ตั้งของโรงเรียน “ศรีสะเกษ”
คำขวัญ
“รักษ์ศักดิ์ศรี มีคุณธรรม นำวิชาการ สืบสานงานพระราชดำริ”
คติพจน์”นิมิตตํ สาธุรูปานํ กตญญู กตเวทิตา
ความกตัญญูกตเวที เป็นเครื่องหมายแห่งคนดี”
สีประจำโรงเรียน”แดง – น้ำเงิน”
แดง หมายถึง สีประจำวันพระราชสมภพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
น้ำเงิน หมายถึง สีแห่งองค์พระมหากษัตริย์
ต้นไม้ประจำโรงเรียน”ต้นประดู่แดง”
(Monkey Flower Tree)
ประดู่แดง
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Phyllocarpus septententrioalls Donn.Smith.
วงศ์ : Caesalpininaceae
ชื่อสามัญ : Monkey Flower Tree
ลักษณะทั่วไปต้น : เป็นพันธุ์ไม้ยืนต้นขนาดกลาง ที่มีเรือนยอดแผ่กิ่งก้านสาขาออกไปกว้าง
ใบ : ใบเป็นรูปมนรี จะออกเป็นคู่ ๆ สลับกันตามลำดับลักษณะของใบปลายแหลมโคนใบมนขอบใบเรียบ มีสีเขียว
ดอก : ออกเป็นช่อ ตรงส่วนยอดของลำต้น ดอกจะบานไปพร้อมกัน จะทยอยกันบาน จะแดงสดสะพรั่งทั้งต้น เกสรยาวยื่นออกมากลางดอก ดอกมีกลิ่นหอมระรวยจะปริดอกราว ๆ เดือนกุมภาพันธ์ ถึงเดือน มีนาคม แต่ดอกจะอยู่ไม่ทนนัก
การขยายพันธุ์ : เป็นพันธุ์ไม้กลางแจ้ง ที่ชอบแสงแดดจ้า แต่ต้องการน้ำน้อยและความชื้นน้อยปลูกในดินที่ร่วนซุย และระบายน้ำได้ดีขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด
อื่น ๆ : ถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศกัวเตมาลา ในอเมริกากลาง